นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ทิศทางเงินบาทในปีนี้มองว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่า ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากในปีที่แล้วเงินบาทเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าสุดในภูมิภาคที่ 11% อันเนื่องมาจากในปีก่อนประเทศไทยมีการขาดดุลแฝด ได้แก่ การขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดี ขณะที่ในปีนี้สถานการณ์โควิด-19 ของไทยเริ่มดีขึ้น และตลาดรับรู้ผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดไประดับหนึ่งแล้ว ทำให้เงินบาทมีทิศทางฟื้นตัวของ แต่ในระหว่างทางจะมีความผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามา โดยคาดว่าใน 1 เดือนข้างหน้าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับ 32.40-32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงกรอบประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ระดับ 2.8-3.7%
“แม้ว่าภาพรวมของไทยในปีนี้จะดูดีขึ้นจากสถานการณ์โควิดที่ลดความรุนแรงลงจากปริมาณการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่คาดว่าการท่องเที่ยวอาจจะยังกลับมาถึงจุดก่อนโควิดในปี 2562 ที่ 40 ล้านคนได้ไม่เร็วนัก เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของเราอย่างจีนยังไม่เปิดประเทศ ขณะเดียวกันสายพันธุ์โอมิครอนแม้จะไม่รุนแรงแต่ติดได้ง่าย จึงอาจจะทำให้กว่าท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อาจจะเป็นปลายปี 2024 หรือปี 2025 ไปเลย ขณะที่การใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายภาคเอกชนเริ่มจะถูกจำกัดด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงคาดว่าในสภาวการณ์อย่างนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงน่าจะพยายามตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำให้ได้นานที่สุด และทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน จากโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ต่างกันไป”
สำหรับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดนั้น จะเห็นได้ว่าเฟดได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากปัญหาเงินเเฟ้อที่สูงขึ้นถึง 7% และอาจจะไม่ใช่การสูงขึ้นชั่วคราว จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าเฟดจะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาเงินเฟ้อฝังรากลึก โดยตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 0.5% ในครึ่งปีแรก หรือเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ และช่วงที่เหลือของปีอีก 2 ครั้ง ขณะที่การปรับลดวงการซื้อสินทรัพย์น่าจะยังคงแผนการเดิม
นายกอบสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เราคิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือขึ้นดอกเบี้ยและรอดูผลก่อนแล้วค่อยตัดสินใจต่อไป เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกินไปจะทำให้โครงสร้างดอกเบี้ยผิดปกติ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีต้นทุนอยู่ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากอยู่ในธนาคารกลางจะต้องปรับขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในระบบจะเพิ่มต้นทุนให้ภาคธุรกิจและประชาชน ขณะที่การปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ลงอย่างรวดเร็วจะทำให้เงินในระบบขาดหายไปจนทำให้เกิดภาวะการแย่งสภาพคล่อง ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และอาจจะทำให้เกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจตามมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น ปัจจัยหลักที่เป็นต้นเหตุมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ขาดหายไปในช่วงโควิด และยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ โดยตลาดได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้าอยู่ในระดับ 2.2% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของเฟด ดังนั้น จึงคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดไม่น่าจะทำอย่างรวดเร็ว หรือเกินความคาดหมายมากนัก
อ้างอิง
https://www.mgronline.com/stockmarket